ความชื้นในถังเก็บน้ำ: จุดเริ่มต้นของเชื้อโรคที่มองไม่เห็น
เชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ เช่น เชื้อราและแบคทีเรีย สามารถเจริญเติบโตได้ หากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยสามปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ความชื้น อาหารของเชื้อโรค และอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเติบโต
น้ำที่อยู่ในถังเก็บน้ำหรือในระบบประปาซึ่งมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา หากมีฝุ่น กากตะกอน หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่สามารถเป็นแหล่งอาหารของเชื้อโรคได้ ก็อาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของจุลินทรีย์ต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เชื้อโรคเหล่านี้อาจขยายตัวและแพร่กระจายภายในระบบน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำร่วมกันในอาคารหรือสถานประกอบการต่าง ๆ
โรคลิเจียนแนร์ (Legionella): อันตรายจากละอองน้ำที่ปนเปื้อน
โรคลิเจียนแนร์ (Legionella) คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียในกลุ่มลีจิโอเนลลา ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการเฉียบพลันในทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคไต หรือผู้ที่มีภาวะมะเร็ง
การติดเชื้อมักเกิดจากการหายใจเอาละอองน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย หรือในบางกรณีอาจเกิดจากการดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ปากโดยตรง ซึ่งน้ำที่ไม่สะอาดและไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เช่น น้ำในถังเก็บน้ำหรือน้ำที่ไหลผ่านระบบท่อที่มีตะกอนสะสม ก็อาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคชนิดนี้ได้โดยไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุนี้ การดูแลรักษาความสะอาดของถังเก็บน้ำและระบบประปาในอาคารจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เพียงแต่เพื่อสุขอนามัยของผู้ใช้น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดต่อที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของทุกคนในระยะยาว


การกำจัดเชื้อโรคในระบบน้ำ: แนวทางป้องกันเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้น้ำ
ระบบน้ำประปา ระบบน้ำดื่ม และระบบน้ำในสระว่ายน้ำ
เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับ ความชื้น และการไหลเวียนของน้ำโดยตรง ซึ่งหากขาดการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค โดยเฉพาะ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มลีจิโอเนลลา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลิเจียนแนร์ โรคอันตรายที่สามารถแพร่กระจายผ่าน ละอองน้ำที่ปนเปื้อน และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
แนวทางเบื้องต้นของการกำจัดเชื้อโรคในระบบน้ำ คือ การกำจัดทางกายภาพ เช่น การล้างด้วยน้ำแรงดันสูงเพื่ออัดเอาสิ่งปนเปื้อนออกจากระบบ แต่การใช้แรงทางกลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่แคบหรือจุดอับได้ทุกจุด ดังนั้น การใช้สารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อ จึงเข้ามาเติมเต็มกระบวนการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประเภทของสารชีวฆาต (Biocide)
1. สารฆ่าเชื้อแบบออกซิไดซ์ (Oxidizing Biocides)
สารประเภทนี้จะออกฤทธิ์โดยการดึงอิเล็กตรอนจากสิ่งมีชีวิตเพื่อเข้าสู่สมดุลใหม่ อ้างอิงจากงานวิจัย Effects of Three Oxidizing Biocides on Legionella pneumophila โดย ASM พบว่ามีการใช้สารออกซิไดซ์ 3 ชนิด ได้แก่
- คลอรีนอิสระ ประมาณ 3 mg/L
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่ความเข้มข้น 3%
- โอโซน ที่ความเข้มข้น 0.1–0.3 mg/L
ตามมาตรฐาน Code of Practice for Fresh Water Cooling Tower 2016 ของ EMSD ฮ่องกง ยังแนะนำให้ใช้สารออกซิไดซ์อื่น ๆ เช่น
คลอรีน 2–20 mg/L, คลอรีนไดออกไซด์ 0.1–5 mg/L, โซเดียมโบรไมด์, สารประกอบไอโอดีน, โอโซน 1–5 mg/L, โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 1–3 mg/L, และ แคลเซียมไฮโปคลอไรท์
2. สารฆ่าเชื้อแบบไม่ออกซิไดซ์ (Non-Oxidizing Biocides)
กลุ่มนี้จะทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ที่เป็นโปรตีนหรือไขมันของเชื้อ เช่น
- Quaternary Ammonium Chloride (QUATS) 5–10 mg/L
- คาร์บาแมท 12–18 mg/L
- Isothiazolines 0.5–2 mg/L
- Glutaraldehyde 45–56 mg/L
แนวทางการกำจัดเชื้อโรคในระบบต่าง ๆ
การกำจัดเชื้อในระบบน้ำใช้
ควรถ่ายน้ำเก่าทิ้งโดยการเปิดน้ำที่ปลายท่อทุกจุดภายในอาคาร เพื่อไล่น้ำค้างท่อและตะกรันออก แล้วจึงทำความสะอาด ถังเก็บน้ำด้วยน้ำแรงดันสูง ร่วมกับ สารออกซิไดซ์ เพื่อฆ่าเชื้อ จากนั้นเติมน้ำใหม่พร้อมคลอรีนให้มี คลอรีนอิสระไม่น้อยกว่า 1 mg/L ตามเกณฑ์ของ กปน. จุดเสี่ยงอย่าง หัวก๊อก ฝักบัว สายชำระ ควรถอดจุ่มในสารออกซิไดซ์เพื่อฆ่าเชื้อเพิ่มเติม
การกำจัดเชื้อในระบบน้ำอุ่นรวม
เชื้อโรคลิเจียนแนร์เจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 35–55°C ดังนั้นจึงควรต้มน้ำในถังเก็บน้ำอุ่นให้สูงกว่า 60°C แล้วปล่อยน้ำเก่าทิ้ง เติมน้ำใหม่รอบแรกพร้อม สารออกซิไดซ์ ทิ้งไว้ก่อนปล่อยออก แล้วเติมน้ำรอบสองพร้อม สารชีวฆาตแบบไม่ออกซิไดซ์ และปล่อยทิ้งก่อนใช้งานจริง สำหรับระบบน้ำอุ่นแบบแยกห้อง ควร เปิดน้ำร้อนสูงสุดและล้างระบบหลายรอบ พร้อมเติมคลอรีนที่ถังเก็บน้ำของอาคาร
การกำจัดเชื้อในสระว่ายน้ำหรือน้ำพุ
ให้ถ่ายน้ำเก่าทิ้งออกทั้งหมด เติมน้ำใหม่พร้อมควบคุม คลอรีนอิสระให้อยู่ที่ 1–2 ppm และควบคุมค่า pH ให้อยู่ระหว่าง 7.2–7.8
การกำจัดเชื้อในระบบน้ำดื่ม
ในกรณีเป็นถังน้ำคว่ำ ควรเทน้ำเก่าทิ้ง เติมน้ำใหม่ผสม สารออกซิไดซ์ แล้วปล่อยน้ำผ่านก๊อกเล็กน้อย เพื่อให้น้ำที่มีสารอยู่ในระบบ ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมงก่อนปล่อยทิ้งทั้งหมด สำหรับระบบกรอง ควร ตรวจสอบและเปลี่ยนไส้กรองทุกชิ้น โดยเฉพาะแมมเบรน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
บทสรุปและข้อแนะนำสำคัญ
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในระบบน้ำ คือการถ่ายน้ำเก่าทิ้ง ทำความสะอาดด้วยแรงดันน้ำและสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นจึง เติมน้ำใหม่คุณภาพดี พร้อมตรวจวัดค่าคลอรีนและคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในระบบที่เกี่ยวข้องกับ การดื่ม การประกอบอาหาร การชำระล้างร่างกาย และการสัมผัสโดยตรง
บริษัท เค-วิซ โซลูชั่น จำกัด
ได้พัฒนาและออกแบบขั้นตอนการล้างถังเก็บน้ำ รวมถึงกระบวนการฆ่าเชื้อในระบบน้ำอย่างครบวงจร
เพื่อรองรับการใช้น้ำอย่างปลอดภัยในบ้านพัก อาคารสูง โรงงาน หรือสถานที่สาธารณะ
สนใจบริการล้างถังเก็บน้ำ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อ HOTLINE: 081-467-3826
หรือ อีเมล: sale@k-wiz.co.th
อ้างอิง
- NCBI National Center for Biotechnology Information
- Electrical and Mechanical Services Department (Hong Kong SAR)
- กิตติคุณ คชเสนี, “Best Practice: การบริหารอาคารในสถานการณ์โรคติดต่อ ตอน: กำจัดแหล่งโรคลิเจียนแนร์ในระบบน้ำ”, เผยแพร่ผ่าน Facebook Page: Thailand Facility Management Association (TFMA)